ประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก เนื่องจากอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเสมอๆ ถึงแม้ว่าเราจะใช้ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ซึ่งเราจะพบเห็นข่าวการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ อยู่ทุกวัน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามท้องถนนในทุกเทศกาล และมักเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง หรืออาจจะเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นขณะอยู่บ้าน ที่ทำงาน เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดว่า ชีวิตคนเรามีความเสี่ยงได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่
ประเภทของประกันภัยอุบัติเหตุ
1. ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือประกันภัยพีเอ (PA) กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุประเภทนี้ หมายถึง การทำประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับบุคคล จะเป็นเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น หรือจะรวมถึงบุคคลในครอบครัวด้วยก็ได้
2. ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่เหมาะสำหรับองค์กรเพื่อใช้ในการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง มีลักษณะคิดเหมาเป็นรายหัวภายในองค์กร หากลูกจ้างได้พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทนั้นๆ แล้ว ก็ถือว่าหมดความคุ้มครอง
ประกันภัยอุบัติเหตุ
3. สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นประกันภัยลักษณะเดียวกับประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม โดยเน้นความคุ้มครองสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เหมาะสำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ
แนวทางการพิจารณาเลือกซื้อประกันคุ้มครองอุบัติเหตุ
1. แบบของกรมธรรม์ กรมธรรม์คุ้มครองอุบัติเหตุนั้นมีอยู่หลายแบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละแบบก็มีความคุ้มครอง หรืออลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นอันดับแรกที่ต้องพิจารณาคือแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองหรือผลประโยชน์ที่ตรงกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือความเสี่ยงที่เราต้องเผชิญอยู่เป็นประจำ
2. จำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันภัย เป็นจำนวนเงินที่ระบุถึงวงเงินความคุ้มครองที่จะได้รับจากข้อตกลงคุ้มครองต่างๆ ทั้งเรื่องความคุ้มครองชีวิต ค่าชดเชยการสูญเสียอวัยวะ หรือการทุพพลภาพ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลด้วย ซึ่งเราสามารถเลือกจำนวนวงเงินเอาประกันภัยนี้ได้ตามแบบประกันที่เราต้องการ
3. ประกันอุบัติเหตุค่ารักษาพยาบาล ประกันภัยคุ้มครองอุบัติเหตุนั้นมีให้เลือกทั้งรูปแบบที่รวมค่ารักษาพยาบาล และไม่รวมค่ารักษาพยาบาลก็ได้ โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลเฉพาะที่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถเบิกได้ทั้งแบบคนไข้นอกหรือคนไข้ใน ทั้งในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลแผนปัจจุบันอื่นๆ(คลินิก) และสามารถเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยในแต่ละครั้ง จะสามารถเบิกได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและต้องไม่เกินวงเงินเอาประกันภัยที่มีอยู่
4. ความคุ้มครองเพิ่มเติม ในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุจะมีรายละเอียดของข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์ไว้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี ยังมีข้อยกเว้นบางประเภทสามารถที่จะขอขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ดังนี้
- การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
- การจลาจล การนัดหยุดงาน
- ภัยจากการก่อการร้าย ภาวะสงคราม
- การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการ โดยสายการบินพาณิชย์
- การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย
ปัจจัยในการกำหนดเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุ
1. จำนวนผู้เอาประกันภัย การทำประกันภัยแบบกลุ่มจะถูกกว่าการทำประกันภัยรายบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกลุ่มคนมีจำนวนมากเบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งต่ำลง
สำหรับการประกันภัยกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษานั้น เบี้ยประกันภัยจะต่ำกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไปแต่ทั้งนี้เบี้ยประกันภัย จะแตกต่างกันตามระดับการศึกษาด้วย โดยการศึกษาระดับอนุบาลและประถม เบี้ยประกันภัยจะต่ำสุด สูงขึ้นมาคือระดับมัธยม เป็นต้น
2. อาชีพ การแบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยจะแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่
อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน
อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา
อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ
อาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน
3. อายุ บุคคลที่อายุเกินกว่า 60 ปี เบี้ยประกันภัยย่อมสูงกว่าคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี
4. ความคุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างก็ได้ เช่น ต้องการเพียงการเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ โดยไม่เอาความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ได้ แล้วแต่แบบประกันที่เลือก ซึ่งแน่นอนว่าเบี้ยประกันภัยก็จะแปรตามความคุ้มครองที่ต้องการด้วย
5. ความคุ้มครองเพิ่มเติม หากผู้เอาประกันภัยต้องการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยที่มีการยกเว้นใน กรมธรรม์ประกันภัยได้แก่ การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การจลาจล/นัดหยุดงาน สงคราม หรือการถูกลอบทำร้าย การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย การโดยสารเฮลิคอปเตอร์ เบี้ยประกันภัยย่อมเพิ่มสูงขึ้น
สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองอุบัติเหตุ และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล