ถึงแม้ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิต จะสามารถคุ้มครองรายได้ของครอบครัวที่จะต้องสูญเสียไปในอนาคต ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งแล้ว ยังมีการประกันสุขภาพเพื่อที่จะคุ้มครองรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการที่เราต้องเจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเงิน หรือแผนการเงินในอนาคตได้
การประกันสุขภาพ จึงเป็นการบริหารความเสี่ยง โดยเราสามารถโอนความเสี่ยงในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล หรือค่าชดเชยการที่ต้องสูญเสียรายได้ในระหว่ารักษาตัว ไปให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆได้
สัญญาเพิ่มเติม เป็นสัญญาที่สามารถซื้อเพิ่มเติม โดยการพ่วงกับสัญญาหลักแบบใดแบบหนึ่งก่อนจึงจะซื้อประกันสุขภาพแนบเพิ่มเติมเข้าไปได้ และเนื่องจากสัญญาเพิ่มเติมนี้ เป็นสัญญาประกันวินาศภัยแบบหนึ่ง ดังนั้นเบี้ยประกันสำหรับสัญญาเพิ่มเติมนี้เป็นแบบเบี้ยสูญเปล่า ไม่มีส่วนของการออมหรือมูลค่าใดๆ (ยกเว้นสัญญาเพิ่มเติมควบการลงทุนแบบ UDR)
สัญญาเพิ่มเติมนี้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
- สัญญาเพิ่มเติมการชดเชยค่ารักษาพยาบาล (ประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่)
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ก็ต้องยอมแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลมีแต่จะสูงขึ้นตามไปด้วย ดังเราจึงต้องเตรียมวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินจำนวนมากในการรักษา การทำประกันสุขภาพ ก็เป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยลดภาระทางการเงินในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลได้ ซึ่งสัญญาเพิ่มเติมในกลุ่มของการชดเชยค่ารักษาพยาบาลแบ่งออกเป็น
- ประกันสุขภาพผู้ป่วยในแบบแยกรายการ
เป็นประกันที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในให้เรา (ผู้ป่วยใน คือผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยนอนพักที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน) โดยจะแบ่งหมวดหมู่ค่ารักษาพยาบาลออกเป็นหลายหมวดด้วยกัน และมีเพดานกำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวด ถ้าหมวดใดหมวดหนึ่งมีค่ารักษาเกินจากเพดานที่กำหนด จะต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนเกินเอง ส่วนมากแล้ว จะแบ่งผลประโยชน์เป็นกรณีผู้ป่วยใน และกรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในออกเป็นหมวดหลักๆ 13 หมวดดังนี้
ผลประโยชน์กรณีเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
- หมวดที่ 1 ค่าห้องและค่าอาหาร ค่าบริการในโรงพยาบาล
- หมวดที่ 2 ค่าบริการทางการแพทย์
- หมวดที่ 3 ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม(แพทย์)
- หมวดที่ 4 ค่ารักษาพยาบาลโดยการผ่าตัด (ศัลยกรรม) และหัตถการ
- หมวดที่ 5 การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery)
ผลประโยชน์กรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
- หมวดที่ 6 ค่าบริการทางการแพทย์ก่อนและหลังนอนโรงพยาบาล
- หมวดที่ 7 ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอกภายใน 24 ชั่วโมงของการเกิดอุบัติเหตุต่อครั้ง
- หมวดที่ 8 ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
- หมวดที่ 9 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง
- หมวดที่ 10 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
- หมวดที่ 11 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคมะเร็งโดยเคมีบำบัด
- หมวดที่ 12 ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน
- หมวดที่ 13 ค่ารักษาพยาบาลโดยการผ่าตัดเล็ก
- ประกันสุขภาพผู้ป่วยในแบบเหมาจ่าย เป็นประกันสุขภาพแบบใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน เป็นการเหมาจ่ายโดยการกำหนดจำนวนวงเงินสูงสุดที่จะสามารถเบิกชดเชยได้ในแต่ละปี
- สัญญาเพิ่มเติมชดเชยรายได้
ถ้าหากว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับเรา แล้วส่งผลให้เราต้องหยุดทำงาน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุการเจ็บป่วย การพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางการเงินทั้งสิ้น ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการพักรักษาตัว และในบางคนที่ทำงานส่วนตัว ก็จะขาดรายได้ประจำวันไป หรือเป็นลูกจ้างแต่ต้องหยุดงานนานๆ บริษัทก็อาจจะเลิกจ้าง ทำให้ขาดรายได้จากการหยุดงานไป
- ชดเชยรายได้รายวัน ในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ประกันประเภทนี้ จะจ่ายค่าสินไหมให้เรา โดยคิดตามจำนวนวันที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นค่าชดเชยต่อวัน เช่น ทำประกันชดเชยรายได้ วันละ 1,000 บาท เข้ารักษาตัว 5 วัน บริษัทจะจ่ายเงินสินไหมชดเชยให้ 5,000 บาท ผู้ที่เหมาะจะทำประกันประเภทนี้ คือผู้ที่ได้รายได้เป็นรายวัน เช่น ลูกจ้างรายวัน พ่อค้าแม่ค้า ที่ขาดรายได้ถ้าไม่เปิดร้านขายของ หรือแม้แต่เจ้าของกิจการ ที่รายได้จะมีผลกระทบ ถ้าหากเจ้าของต้องหยุดทำงาน เป็นต้น
- การชดเชยรายได้ หากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยการชดเชยเป็นเงินก้อน เพื่อใช้สำหรับการเลี้ยงดูตนเอง
- สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองโรคร้ายแรง
เป็นการให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคร้ายแรงโดยเฉพาะ เนื่องจากค่ารักษาโรคเหล่านี้ ต้องใช้เงินในการรักษาที่สูงกว่าโรคทั่วไป เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง ในบางโรค นอกจากการรักษาแล้ว เราอาจจะต้องหยุดงาน เพื่อรักษาตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย เช่นโรคมะเร็ง จึงอาจทำให้ต้องขาดรายได้ตามมาด้วย ดังนั้นการประกันโรคร้ายแรง จึงมีการจ่ายเป็นเงินก้อนให้ตามทุนประกัน เพื่อที่จะไว้ใช้บรรเทาภาระต่างๆนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลด้วย
- สัญญาเพิ่มเติมกลุ่มอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุนั้นมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เป็นการให้ความคุ้มครองทั้งชีวิต ค่าชดเชย รวมถึงค่าเลี้ยงดูเป็นเงินก้อนอีกด้วย นอกจากนั้นสัญญาเพิ่มเติมกลุ่มอุบัติเหตุนี้ ยังขยายความคุ้มครองไปถึงกรณีที่เกิดเหตุการถูกลูกหลง หรือการถูกลอบทำร้ายอีกด้วย โดยความคุ้มครอง จะให้ความคุ้มครองดังนี้
- ชดเชยสินไหมกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ตามจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้
- ชดเชยกรณีที่การเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้สูญเสียอวัยวะที่สำคัญ คือ มือ เท้า หรือสายตา อย่างน้อย 1 ข้าง รวมถึงนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ข้างใดข้างหนึ่ง
- ชดเชยรายได้จากการทุพลภาพชั่วคราว หากต้องกลับมารักษาตัวที่บ้านต่อ ประกันประเภทแรก จะไม่คุ้มครอง เช่น ขาหัก ต้องกลับมารักษาตัวที่บ้านต่ออีก 2 เดือน ถือได้ว่าเป็นการทุพลภาพชั่วคราว (2 เดือน) กรณีแบบนี้ ทำให้ต้องหยุดพักนานหลายสัปดาห์ ขาดรายได้ ประกันที่คุ้มครองเรื่องนี้ จะคุ้มครองเฉพาะกรณีอุบัติเหตุอย่างเดียว และจะชดเชยให้ เป็นรายสัปดาห์ แต่ถ้าเป็นโรค จะไม่คุ้มครอง (เป็นโรค ไม่ถือว่าเป็นทุพลภาพ)
- ชดเชยรายได้จากการทุพลภาพถาวร ประกันประเภทนี้ ก็จะจ่ายค่าสินไหมเลี้ยงดูเรา ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 10 ปี โดยชดเชยให้เป็นรายปี หรือรายเดือน แล้วแต่แบบประกัน และคุ้มครองเฉพาะกรณีอุบัติเหตุเท่านั้น
- ชดเชยการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุโดยเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล
- ชดเชยการผ่าตัด หากผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุ ถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัด
- สัญญาเพิ่มเติมกลุ่มยกเว้นเบี้ยประกัน
การคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมกลุ่มนี้ จะให้ความคุ้มครองเมื่อจกเป็นผู้ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ไม่ว่าการทุพพลภาพนั้น จะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยก็ตาม ทางบริษัทผู้รับประกันภัย จะยกเว้นเบี้ยประกันภัยหลัก ที่ยังต้องชำระในอนาคต โดยผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับผลประโยชน์จากสัญญาหลักตามปกติ แต่สัญญาเพิ่มเติมอื่นๆที่ได้ซื้อพ่วงกับสัญญาหลักฉบับนั้นจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ
ในการเลือกสัญญาประกันชีวิตที่จะมาเป็นสัญญาหลักสำหรับแนบประกันสุขภาพเพิ่มเติมนั้น ต้องวางแผนในตอนเริ่มต้นว่าจะซื้อเป็นประกันชีวิตประเภทใด ซึ่งประกันชีวิตที่สามารถนำมาแนบประกันสุขภาพเพิ่มได้นั้น ก็จะมีให้เลือกตั้งแต่ ประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน ฯลฯ
แต่มีข้อแนะนำว่า ประกันชีวิตที่เหมาะสมสำหรับนำมาแนบประกันสุขภาพที่ดีนั้น ควรจะเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองยาว เช่นแบบตลอดชีพ หรือแบบยูนิตลิงค์ เพราะหากสัญญาหลักมีความคุ้มครองที่สั้น เมื่อประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักสิ้นสุดลง สัญญาเพิ่มเติมที่เป็นประกันสุขภาพ ก็เป็นอันสิ้นสุดลงไปด้วย หากกรณีที่ผู้เอาประกันมีประวัติสุขภาพ ประวัติเจ็บป่วยติดตัวไปแล้ว การเริ่มทำประกันสุขภาพเล่มใหม่ อาจจะทำได้ยากขึ้น หรือในบางกรณีหากมีประวัติการเจ็บป่วยแบบรุนแรง ก็อาจจะไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้อีกเลย
แนวทางการพิจารณาทำประกันสุขภาพเบื้องต้น คือ
- ก่อนที่จะพิจารณาทำประกันสุขภาพแบบใดนั้น ควรสำรวจสวัสดิการต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อน ว่ามีอยู่เท่าใด มีความคุ้มครองในเรื่องใดบ้าง เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหากต้องเจ็บป่วย หรือต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือไม่
- ประมาณการค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลที่เราใช้ประจำ หรืออยู่ใกล้เคียง โดยอาจพิจารณาถึงเรื่องของโรงพยาบาลที่ไม่ต้องสำรองเงินจ่าย เพื่อลดปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่ายหากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน
- ศึกษารูปแบบของประกันสุขภาพที่เราต้องการ โดยพยายามมองหาว่า ประกันนั้นๆ มีการคุ้มครองในลักษณะไหนประกันสุขภาพ ตรงกับความต้องการหรือไม่ ครอบคลุมค่าใช้จ่าย หากต้องเข้ารักษาหรือไม่ หรือมีการคุ้มครองทันที หรือจะต้องรอให้พ้นระยะเวลารอคอยก่อน จึงจะได้รับการคุ้มครอง
- อายุของการรับประกัน เนื่องจากแบบประกันคุ้มครองสุขภาพแต่ละแบบนั้น มีการกำหนดช่วงอายุในการคุ้มครองที่แตกต่างกัน รวมถึงระยะเวลาของสัญญาหลักที่เราซื้อประกันสุขภาพพ่วงเข้าไปด้วย ดังนั้นควรเลือกแบบที่ให้การคุ้มครองถึงอายุที่สูงที่สุด เพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่สูงอายุแล้ว
- ตรวจสอบความคุ้มครองของประกัน ว่ามีการคุ้มครองเพียงพอต่อความต้องการของเราหรือไม่่ โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกๆคืออัตราค่าห้องของโรงพยาบาล ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าบริการทั่วไปเหล่านี้ ประกันสุขภาพบางโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่แพง อาจจะส่งผลให้ผู้เอาประกัน ต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินมา
- พิจารณาและตรวจสอบถึงสถานะทางการเงิน และความน่าเชื่อถือของบริษัทด้วย เพราะการประกันสุขภาพนั้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่มีอายุสูงๆ ดังนั้นหากเกิดปัญหากับบริษัทในช่วงที่เราอายุมากแล้ว อาจทำให้เราเริ่มต้นทำประกันสุขภาพใหม่ได้ยากขึ้น หรือไม่สามารถทำประกันสุขภาพใหม่ได้เลย
- หลังจากได้รับกรมธรรม์แล้ว ต้องตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องของกรมธรรม์อีกที ในเรื่องของข้อมูลและความคุ้มครองต่างๆ ว่าตรงกับที่ต้องการหรือไม่ รวมถึงข้อยกเว้นและระยะเวลารอคอยต่างๆ

สัญญาเพิ่มเติม เพื่อการคุ้มครองสุขภาพและชดเชยรายได้
สัญญาเพิ่มเติม เพื่อการคุ้มครองโรคร้ายแรง