การประกันชีวิตนั้นไม่ได้เป็นการรับประกันว่า ใครบางคนจะไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่พิการ หรือไม่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร แต่ประกันชีวิตนั้นเป็นการรับประกันสำหรับบุคคลที่ต้องอยู่ต่อไปว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ที่หารายได้ส่วนใหญ่ให้กับครอบครัวแล้ว พวกเขาจะยังคงมีเงินอีกก้อนหนึ่งไว้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไป แต่จะอยู่ได้แบบใดนั้น เราเป็นผู้เลือกให้กับพวกเขา
ดังนั้น การเลือกซื้อประกันชีวิต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเน้นไปในการคุ้มครองชีวิตเป็นอันดับแรก และต้องซื้อความคุ้มครองให้เพียงพอกับความต้องการด้วย การเลือกซื้อประกันชีวิตไม่ควรมองที่ผลประโยชน์จากการออมเพียงอย่างเดียว เพราะการทำประกันแบบออมทรัพย์นั้น ความคุ้มครองหรือทุนประกันอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการก็ได้
ประกันชีวิตต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ เป็นคำถามที่หลายๆคนที่ต้องการทำประกันชีวิต แต่ยังคงสงสัยอยู่ ว่าควรจะทำเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม
ในปัจจุบันมีแนวคิดในการคำนวณทุนประกันที่เหมาะสมอยู่ 2 แนวทาง คือ คำนวณตามศักยภาพของเรา หรือคำนวณตามภาระที่เราต้องรับผิดชอบ โดยรายละเอียดในแนวคิดเหล่านั้นเป็นดังนี้
- คำนวณตามศักยภาพ ( Potential Base )
ถึงแม้มูลค่าที่แท้จริงของบุคคล คือ จำนวนรายได้ทั้งหมด ที่คาดว่าจะสามารถสร้างขึ้นมาได้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ หรือจนกว่าจะเกษียณอายุ แต่วงเงินที่คำนวณได้ มักจะสูงเกินกว่าที่เราจะสามารถจ่ายเพื่อทำประกันได้ โดยเฉพาะคนที่เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ
ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงมีการกำหนดว่า เราควรมีวงเงินประกัน เท่ากับจำนวนเท่าของรายได้ต่อปีที่เราสามารถจะสามารถสร้างขึ้นมาได้ คูณด้วยจำนวนปีที่เราต้องการให้ครอบครัวสามารถปรับตัว หรือจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้ เพื่อที่จะทำให้สามารถ สร้างรายได้ให้กลับมาใกล้เคียงเหมือนเดิม
จำนวนปีที่เหมาะสมนั้นก็ขึ้นก็อยู่กับสถานะของแต่ละครอบครัว แต่โดยทั่วไปที่นิยมนำมาใช้ในการคำนวณ เพื่อหาทุนประกันที่เหมาะสม คือ 3-5 ปี เช่น นาย ก. มีเงินเดือนๆละ 50,000 บาทและได้รับโบนัส ตอนสิ้นปีอีก 2 เดือน รวมทั้งปีมีรายได้เท่ากับ 700,000 บาท และต้องการระยะเวลาในการปรับตัว 5 ปี ดังนั้น ทุนประกัน ที่เหมาะสมจะเท่ากับ 700,000 X 5 = 3.5 ล้านบาท
- คำนวณตามภาระค่าใช้จ่าย ( Need Base )
วิธีนี้จะพิจารณาตามความจำเป็นที่แท้จริงของครอบครัวว่าหากสูญเสียเราไป ครอบครัวยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โดยเริ่มจาก
1. คำนวณความต้องการทางการเงินที่แท้จริงเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะถ้าเป็นไปได้ เราคงอยากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้เอง เช่น ค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว , หนี้สินที่คงค้างอยู่ , ค่าเล่าเรียนของลูกๆ , ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายครั้งสุดท้ายซึ่งได้แก่ค่าฌาปนกิจ อย่างไรก็ตามแต่ละคนย่อมมีการเตรียมการแตกต่างกันไป
2. พิจารณาถึงสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีสภาพคล่อง ที่จะสามารถเปลี่ยนไปเป็นเงินเพื่อไปรับภาระเหล่านี้ ว่ามีอะไร และเท่าไหร่บ้าง
3. คำนวณทุนประกันที่ต้องการ โดยทุนประกันจะเท่ากับจำนวนเงินที่ยังขาดหลัง หลังจากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปหักจากภาระค่าใช้จ่าย
ภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่
1. ค่าใช้จ่ายของครอบครัว คูณด้วยจำนวนปีที่เราอยากให้เขาอยู่ได้ เสมือนว่าเรายังมีชีวิตอยู่
2. หนี้สินที่คงค้างทั้งหมดไม่ว่า ค่าจำนองบ้าน , หนี้รถยนต์ หรือหนี้บัตรเครดิต
3. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ตามจำนวนปีที่คาดว่าท่านยังมีชีวิตอยู่
4. ค่าเล่าเรียนของลูกทุกคนจนกว่าเขาจะเรียนจบ
5. ค่าใช้จ่ายในวาระสุดท้ายของเราได้แก่ งานฌาปนกิจ เป็นต้น
สินทรัพย์สภาพคล่องที่อาจมีเตรียมไว้แล้ว เช่น
1. ทุนประกันที่เรามีอยู่แล้วในปัจจุบัน
2. สินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้หลังเราเสียชีวิต
3. กองทุนต่างๆหรือเงินทดแทนที่บริษัทของเราจ่ายให้เมื่อเสียชีวิต
ประกันคุ้มครองชีวิตและรายได้